Last updated: 28 เม.ย 2568 | 13 จำนวนผู้เข้าชม |
เครื่องดื่มชนิดที่ว่าซึ่งกำลังฮอตฮิตติดเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย ก็คือ "มัตฉะ" (matcha) หรือชาเขียวที่บดเป็นผงละเอียด โดยบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นติ๊กต็อกหรืออินสตาแกรม ต่างก็พากันโหมโฆษณาถึงข้อดีของมัตฉะ จนกลายเป็นเครื่องดื่มที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาวเจนซี (Gen Z) ที่แห่กันไปเข้าคิวยาวหน้าคาเฟ่หรือร้านชา เพื่อลิ้มลองรสชาติของมัตฉะที่ชงเป็นเครื่องดื่มหลากหลายสูตร
มัตฉะไม่ใช่เครื่องดื่มชนิดที่คิดค้นขึ้นใหม่ เพราะมีการผลิตและบริโภคกันมาแต่โบราณในประเทศญี่ปุ่น โดยการดื่มผงชาสีเขียวสว่างสดใสนี้ เป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งมักจะใช้มัตฉะในพิธีชงชา แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมดื่มมัตฉะในรูปแบบของลาเต้ (latte) หรือการชงด้วยนมทั้งร้อนและเย็น รวมทั้งนำไปทำเป็นของหวาน หรือแม้กระทั่งผสมลงในอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
อันที่จริงแล้ว มัตฉะคือชาเขียว (green tea) ประเภทหนึ่ง ซึ่งทำจากใบของต้นชา (Camellia sinensis) ที่เพาะปลูกด้วยวิธีพิเศษ ทว่ามัตฉะแตกต่างจากชาเขียวทั่วไปที่เราคุ้นเคย ตรงที่ชาเขียวนั้นคือใบชาแห้งที่บรรจุในกระป๋องหรือถุงชา โดยมีลักษณะเหมือนกับใบชาที่พร้อมชงด้วยน้ำร้อนชนิดอื่น ๆ แต่มัตฉะนั้นเป็นยอดอ่อนของใบชาที่บดจนเป็นผงละเอียด และมักจะชงด้วยวิธีตีกับน้ำร้อนหรือนมจนเข้ากันดี
มิแรนดา กาลาติ นักโภชนาการชาวแคนาดาผู้ดูแลเว็บไซต์ Real Life Nutritionist บอกว่า "ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมาย ที่พิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ของชาเขียว ส่วนมัตฉะนั้นเป็นเพียงชาเขียวที่มีความเข้มข้นสูงกว่าชาเขียวชนิดอื่น ๆ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ของมัตฉะว่าเหนือกว่าชาเขียวทั่วไปหรือไม่"
ประโยชน์ต่อสุขภาพของมัตฉะ
มัตฉะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ซึ่งช่วยปกป้องเซลล์ร่างกายไม่ให้ได้รับความเสียหาย และช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเรื้อรังหลายชนิด งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอนกุกของเกาหลีใต้ ชี้ว่ามัตฉะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวธรรมดาได้สูงสุดถึง 10 เท่า
การที่มัตฉะและชาเขียวชนิดอื่น ๆ ผลิตจากพืชในวงศ์เดียวกัน จึงน่าจะมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอยู่ในปริมาณใกล้เคียงกันด้วย โดยงานวิจัยในอดีตพบว่า สารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูงในชาเขียวนั้นช่วยลดน้ำหนัก ทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญสร้างพลังงาน (เมตะบอลิซึม) ของร่างกาย และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน เนื่องจากชาเขียวมีกาเฟอีนอยู่ไม่น้อย
เครื่องดื่มมัตฉะลาเต้หรือมัตฉะใส่นมหนึ่งถ้วย ซึ่งมีส่วนผสมของผงมัตฉะอยู่ราวหนึ่งช้อนชา อาจให้สารกาเฟอีนได้ราว 38-176 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าปริมาณกาเฟอีนที่ได้จากกาแฟหนึ่งถ้วยมาก อย่างไรก็ตาม กาลาติบอกว่านักโภชนาการและผู้บริโภคจำนวนมาก เชื่อว่ามัตฉะส่งผลต่ออารมณ์โดยช่วยให้สงบจิตใจได้ดีกว่ากาแฟ เพราะมีสารแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) ผสมอยู่ด้วย
"สารแอล-ธีอะนีน คือกรดอะมิโนในมัตฉะที่มีประโยชน์ต่อระบบประสาท ช่วยผ่อนคลายลดความเครียดวิตกกังวล และบรรเทาอาการนอนไม่หลับ" กาลาติกล่าว
ผลการศึกษาวิจัยบางชิ้นยังชี้ว่า สารประกอบหลายชนิดในมัตฉะ ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ, คลอโรฟิลล์, กาเฟอีน, และแอล-ธีอะนีน มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับสุขภาพสมอง โดยอาจส่งผลให้การทำงานของสมองดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาเฟอีนนั้น ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และเพิ่มอัตราการเผาผลาญสร้างพลังงานในสมองทุกส่วน รวมทั้งช่วยให้ตื่นตัวสูงขึ้นและมีความจำดีขึ้น
ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยชิซึโอกะในญี่ปุ่น พบว่ามัตฉะอาจช่วยในเรื่องการคิดวิเคราะห์และเสริมสร้างสติปัญญา โดยรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร National Library of Medicine ระบุว่า กลุ่มทดลองที่เป็นคนชรา 12 คน ซึ่งประกอบด้วยชายชรา 2 คน และหญิงชรา 10 คน มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการทำงานของสมองที่ดีขึ้น หลังบริโภคผงมัตฉะวันละ 2 กรัม เป็นเวลาติดต่อกัน 2 เดือน
ข้อเสียของมัตฉะ
มัตฉะเองก็เป็นแหล่งอาหารที่ให้กาเฟอีนสูง จึงควรบริโภคแต่พอดีด้วยความระมัดระวัง เพราะการที่มัตฉะมีปริมาณกาเฟอีนสูงยิ่งกว่าชาเขียวชนิดธรรมดานั้น หากเผลอบริโภคมากเกินไปก็อาจจะส่งผลเสีย เช่นใจสั่น นอนไม่หลับ หรือกระตุ้นอารมณ์เครียดวิตกกังวลได้
แม้กาเฟอีนจะมีข้อดีคือช่วยให้สดชื่นตื่นตัว แต่การได้รับกาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป จะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งมีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้ร่างกาย "สู้หรือหนี" ได้อย่างสุดกำลัง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ฮอร์โมนดังกล่าวช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกายได้ชั่วคราว แต่ก็นำเราไปสู่ภาวะเครียดวิตกกังวลด้วย
ปริมาณกาเฟอีนสูงสุดต่อวันที่นักโภชนาการแนะนำให้คนวัยผู้ใหญ่บริโภค คือไม่เกิน 400 มิลลิกรัม ซึ่งหมายความว่าไม่ควรดื่มมัตฉะลาเต้มากเกินกว่าวันละ 1-2 ถ้วย ส่วนคนที่ไวต่อกาเฟอีนเป็นพิเศษหรือมีความต้านทานกาเฟอีนต่ำ มัตฉะอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดื่มกาแฟ นอกจากนี้ สารแอล-ธีอะนีนในมัตฉะ ยังช่วยลดการดูดซึมกาเฟอีนเข้าสู่กระแสเลือดด้วย
เดอร์ตี้มัตฉะ (dirty matcha) หรือ "มัตฉะสูตรสกปรกเลอะเทอะ" อาจไม่ได้เลวร้ายเหมือนกับชื่อของมัน เพราะแท้จริงแล้วเครื่องดื่มนี้ก็คือมัตฉะใส่นม ที่เทกาแฟเอสเปรสโซตามลงไปด้วยหนึ่งช็อตเป็นการปิดท้าย
นอกจากจะฟังดูเหมือนการทำลายกลิ่นรสของมัตฉะแล้ว หลายคนยังสงสัยว่า เครื่องดื่มนี้จะมีกาเฟอีนอยู่มากเกินพิกัดไปหน่อยหรือไม่ ?
ผู้คิดค้นสูตรเครื่องดื่มเดอร์ตีมัตฉะอ้างว่า ได้ผสมผสานข้อดีของกาเฟอีนที่ช่วยให้ตื่นตัว เข้ากับประโยชน์ของมัตฉะที่ช่วยให้ผ่อนคลายสงบจิตใจ แต่นักโภชนาการแย้งว่า การผสมกาแฟกับมัตฉะจะกระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลีนให้พุ่งสูงได้อยู่ดี แม้ผู้คิดค้นเดอร์ตีมัตฉะจะอ้างว่า ได้ปรับปรุงสูตรให้ "คลีน" หรือดีต่อสุขภาพมากขึ้นแล้ว เพราะแอล-ธีอะนีนในมัตฉะจะทำให้กาเฟอีนถูกปลดปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ และต้องไม่ดื่มเดอร์ตีมัตฉะเกินวันละ 1 ถ้วย
อนาคตของมัตฉะ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มัตฉะได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้กว่าครึ่งของปริมาณมัตฉะที่ผลิตในญี่ปุ่น กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ตลาดในหลายประเทศมีความต้องการสูง จนคาดการณ์กันว่าเร็ว ๆ นี้ อาจเกิดภาวะขาดแคลนมัตฉะทั้งในญี่ปุ่นและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่สูงขึ้น ในขณะที่อุปทานหรือความสามารถในการผลิตมัตฉะป้อนตลาดโลกมีไม่เพียงพอ บริษัทผู้ผลิตมัตฉะรายใหญ่ของญี่ปุ่นบางแห่ง อย่างเช่นอิปโปโด (Ippodo) และมารุคิว โคยามะเอ็น (Marukyu Koyamaen) ได้ประกาศจำกัดจำนวนการสั่งซื้อมัตฉะเป็นครั้งแรก
สถิติจากกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นผลิตมัตฉะได้ 4,176 ตัน ในปี 2023 ซึ่งคิดเป็นปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าของปี 2010 ถึง 3 เท่า แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก เพราะมัตฉะได้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมกระแสหลักไปแล้ว สภาพการณ์เช่นนี้ยังส่งผลให้มีการผลิตมัตฉะออกมาจากหลายแหล่งในหลายเกรดคุณภาพ ซึ่งทำให้คุณค่าทางโภชนาการของมัตฉะมีความแตกต่างหลากหลายยิ่งกว่าในอดีตมากด้วย
"คุณภาพของมัตฉะแต่ละยี่ห้อนั้นแตกต่างกันมาก" กาลาติกล่าวแนะนำ "หากคุณดื่มมัตฉะเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ ควรมั่นใจว่าซื้อมัตฉะจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ผงมัตฉะบางชนิดที่ใช้กันในร้านกาแฟ อาจมีส่วนผสมของน้ำตาลที่เติมเพิ่มลงไป รวมทั้งอาจมีสารแต่งกลิ่นรสและสารให้ความหวานที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้"
เครดิต BBC NEWS ไทย
13 มี.ค. 2568