สรุปมาให้! ชุบชีวิตใหม่ให้ขยะในบ้านยังไง ให้ไม่เป็นเรื่องยาก

Last updated: 8 ส.ค. 2567  |  117 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สรุปมาให้! ชุบชีวิตใหม่ให้ขยะในบ้านยังไง ให้ไม่เป็นเรื่องยาก


ขยะฟรอมโฮม เป้าหมายง่ายๆ คือไม่ทิ้งรวม 
จุดเริ่มต้นคือเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็นขยะ อาจไม่ใช่ขยะเสมอไป ในความหมายของบางสิ่งยังไม่ควรค่าแก่การทิ้งให้กลายเป็นขยะไร้ค่า และบ้านเป็นต้นทางที่ดีในการคัดแยก ขยะในบ้านแบ่งออกคร่าวๆ เป็น ขยะที่ย่อยสลายได้ และ ย่อยสลายไม่ได้ ที่ย่อยสลายได้ก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นไม้ ที่ย่อยไม่ได้ยังมีปลายทางเป็นจุดรับบริจาค ซาเล้งรับซื้อ หรือส่งต่อให้พนักงานเก็บขยะนำไปจัดการ แต่ถ้าทิ้งรวมเมื่อไหร่ เหล่านั้นจะกลายเป็นขยะไร้ค่าที่อาจเน่าเสีย ปนเปื้อน และไม่ปลอดภัยกับใครเลย ดังนั้นก่อนพาขยะออกไปจากบ้านทุกครั้ง ลองฝึกแยกเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้ขยะย่อยสลายไม่ได้มีชีวิตต่อไปได้ และไม่ลำบากเราที่ต้องเดินออกไปทิ้งแบบนับครั้งไม่ถ้วน

เริ่มแยกแบบเบสิกให้ได้ ค่อยไต่สู่ระดับแอดวานซ์
ถ้าคุณมีความรู้สึกว่าการแยกขยะเป็นเรื่องยาก แสดงว่าคุณยังไม่เคยลงมือแยก เพราะการแยกขยะไม่เคยยากอย่างที่คิด ลองเริ่มต้นจากแบบง่ายมากๆ ก่อนก็ได้ แล้วค่อยไต่ระดับไปเป็นแบบละเอียดยิบ 
สูตรแยกแบบเบสิก > เศษอาหาร (เปียก) / ขยะทั่วไป (แห้ง) 
1. ขยะเศษอาหาร/ขยะย่อยสลายได้ เช่น อาหารที่กินไม่หมด เศษผักที่เหลือจากการปรุง เปลือกผลไม้ เตรียมตะกร้าเหลือใช้มากรองส่วนที่เป็นของเหลวออกจากขยะเศษอาหารก่อน เพื่อให้เศษอาหารนั้นแห้งที่สุด จากนั้นเทใส่ถุงหรือถัง แยกกันกับขยะทั่วไป ปัจจุบันมีเครื่องย่อยสลายเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยพร้อมใช้สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยให้การกำจัดขยะง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย
2. ขยะทั่วไป/ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น พลาสติก ขวดน้ำ แก้ว กล่องพัสดุ บรรจุภัณฑ์ เตรียมถุงหรือถังขนาดปานกลางมาแยกใส่ขยะทั่วไปเอาไว้ ระวังอย่าให้ปะปนกับขยะเศษอาหารหรือขยะเปียก จากนั้นรวมเอาออกไปทิ้งทีเดียวเพื่อให้พนักงานเก็บขยะนำไปคัดแยกได้ง่ายๆ 
สูตรแยกแบบแอดวานซ์ > เปียก / ติดเชื้อ / รีไซเคิล / อิเล็กทรอนิกส์ 
1.   ขยะเศษอาหาร/ขยะย่อยสลายได้ ทำเหมือนการแยกทิ้งแบบเบสิกคือ แยกขยะเศษอาหารลงถังหมัก > ได้ปุ๋ยใส่ผักสวนครัวที่ปลูกในบ้าน
2.    ขยะทั่วไป/ขยะติดเชื้อพร้อมทิ้ง
กระดาษชำระ กระดาษที่ปนเปื้อน ใส่ถุงขยะมัดปากถุงให้เรียบร้อยแล้วทิ้งได้เลย
หน้ากากอนามัย พับครึ่งแบบหันด้านนอกออกแล้วม้วนเก็บ รัดด้วยสายคล้องหู แยกใส่ถุงขยะแบบใสให้มองเห็นได้ง่ายๆ อย่าลืมระบุหน้าถุงว่า “หน้ากากใช้แล้ว” เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
3. ขยะรีไซเคิลพร้อมส่งต่อ จับขยะรีไซเคิลได้มาล้างสะอาด แยกประเภทและชิ้นส่วนอย่างละเอียด ส่งต่อให้หน่วยงานที่รับขยะเหล่านี้นำไปแปรรูปเพื่อใช้งานต่อไป

กลุ่มพลาสติก 

ขวดน้ำ ฝาขวด ถุง หลอด และพลาสติกใดใด > ส่งไปหลอมเป็นภาชนะชิ้นใหม่ได้

ขวดและฝาพลาสติก แยกขวดน้ำกับฝา ทำความสะอาด ตากให้แห้ง ส่งไปทำกระถาง แจกัน ได้ที่ Precious Plastic Bangkok จักรพงษ์วิลล่า เลขที่ 396/1 ถนนมหาราช ท่าเตียน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 (แนบลิงก์) www.facebook.com/PreciousPlasticBKK 
หลอดใช้แล้ว ล้างสะอาด ตากให้แห้ง ส่งไปเปลี่ยนเป็นหมอนให้ผู้ป่วยติดเตียง ได้ที่มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน เลขที่ 555 หมู่ที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวง/เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือติดต่อ 02-537-3308 

ช้อนส้อมและหลอดพลาสติกที่ยังไม่ได้ใช้งาน > ส่งไปให้ผู้ที่ต้องการ เช่น โรงพยาบาลสนาม หน่วยงานที่ดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เอาไปใช้งาน (เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงจุดรับอยู่ตลอด สามารถค้นหารายชื่อโรงพยาบาลสนามที่รับบริจาคสิ่งของเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง และโทรเช็คทุกครั้งก่อนส่งไป ไม่ให้เป็นภาระเจ้าหน้าที่)

กลุ่มโลหะ

กระป๋อง ฝากระป๋อง และอลูมิเนียมใดใด > บริจาคให้มูลนิธินำไปทำขาเทียมหรือุปกรณ์ค้ำยันได้

ห่วงฝากระป๋อง ล้างสะอาด ตากให้แห้ง ไปทำขาเทียมได้ที่กรมควบคุมมลพิษ เลขที่ 92 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือติดต่อ 02-298-2000
ส่งไปทำอุปกรณ์ค้ำยันได้ที่สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล เลขที่ 802/410 หมู่ที่ 12 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130 หรือติดต่อ 02-990-0331 

กระป๋องสเปรย์ที่ใช้จนหมด ให้กดไล่ของเหลวให้ระเหยออกจนเกลี้ยงเพื่อลดแรงดัน แยกไว้ต่างหาก (เป็นขยะอันตรายที่รีไซเคิลได้) > ส่งต่อให้ผู้รับซื้อเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนรีไซเคิล 

กลุ่มแก้ว

ขวดแก้ว โหลแก้ว > ล้างสะอาด แยกเก็บไว้ใช้ซ้ำ / ส่งต่อให้ผู้รับซื้อเพื่อนำไปหลอมขึ้นมาใหม่
กลุ่มกระดาษ

กล่องพัสดุ บรรจุภัณฑ์ เศษกระดาษ > แยกทิ้ง / ส่งต่อให้ผู้รับซื้อเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนรีไซเคิล

4. ขยะอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกำจัด

แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ หูฟัง สายชาร์จต่างๆ > แยกทิ้งลงกล่องรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ล้าง ตาก แยก เพื่อบ้านไร้กลิ่น
รู้ว่าทิ้งแบบไหน แยกอย่างไรแล้ว ต่อไปเป็นเทคนิคจัดการขยะให้บ้านไม่เหม็นที่สำคัญไม่แพ้กัน
ล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง ต้องล้างบรรจุภัณฑ์จากอาหารและเครื่องดื่มให้สะอาดทุกครั้งก่อนแยกทิ้ง เช่น กล่องข้าวพลาสติก ถุงแกง แก้วน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โหลแก้ว การล้างขยะให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำไปแยกทิ้งจะช่วยให้การรีไซเคิลขยะสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น แถมช่วยให้การแยกขยะในบ้านถูกสุขลักษณะอนามัยและไร้กลิ่นด้วย เพราะถ้าทิ้งไปแบบเลอะๆ อาจเกิดการเน่าเสียและส่งกลิ่นได้ 

แยกลงถังหลายหลายสี

ถังควรทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและทำความสะอาดง่าย 
ควรเป็นภาชนะที่ปิดมิดชิด และมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมขยะในบ้านจนเกินจำนวนใช้ถังหลายสี โดยให้สีถังเป็นตัวช่วยในการแยกขยะ โดยมี 2 ถัง สำหรับแยกขยะแบบเบสิก และ 4-6 ถัง สำหรับแยกขยะแบบยิบย่อย 
แยกลงถุงรียูส/ย่อยสลายได้

นำถุงพลาสติกเหลือใช้ที่มีในบ้านมารียูสเป็นถุงแยกขยะได้
ถ้าซื้อถุงขยะควรเลือกแบบที่ย่อยสลายได้ Compostable Plastic (พลาสติกจากพืช ย่อยสลายได้ที่ต้องผ่านกระบวนการที่ถูกวิธี) และระวังอย่าสับสนกับ Biodegradable Plastic (พลาสติกผสมกับวัสดุที่ย่อยสลายได้และต้องได้รับการจัดการเป็นพิเศษ) หรือ Oxo-degradable Plastic (พลาสติกที่เติมโลหะหนักเพื่อให้แตกตัวได้เร็วขึ้น) ที่อาจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม
แยกขยะยังไง ให้สนุกด้วยกันทั้งบ้าน
หากอ่านแล้วอยากเริ่มแยกขยะตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากจัดมุมแยกขยะให้สะอาดและน่าสนใจ มีป้ายระบุประเภทขยะเอาไว้ชัดเจน แล้วชวนสมาชิกในบ้านมาแยกขยะไปด้วยกัน 

สมาชิกวัยเด็ก ให้สมมติว่านี่คือการเล่นเกมแยกขยะ นอกจากสร้างอุปนิสัยการแยกขยะให้เด็กตั้งแต่เนิ่นๆ ยังเป็นการฝึกทักษะและสร้างความรู้ผ่านการแยกสีและประเภทของวัสดุด้วย รับรองว่าเด็กๆ พร้อมสนุกไปด้วยแน่ๆ
สมาชิกวัยผู้ใหญ่ ลองเล่าเหตุผลที่ต้องแยกขยะให้พวกเขาฟัง อาจสร้างแรงจูงใจด้วยกระปุกหนึ่งใบสำหรับเก็บเงินที่ได้จากการขายขยะ หรือให้พวกเขารับรู้ว่าขยะที่บ้านเราส่งต่อไปให้แต่ละหน่วยงานถูกเอาไปทำอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นว่าขยะที่แยกก่อนทิ้งกลับกลายเป็นมูลค่าขึ้นมาได้จริง 
ค่อยๆ ลองชวนคนในบ้านมาปรับพฤติกรรมให้แยกทิ้งจนเป็นนิสัย ทำให้เราไม่ต้องแยกขยะอย่างเดียวดายอีกต่อไป
ชี้เป้าปลายทาง จุดรับชุบชีวิตขยะ 
ถังวนถุง | มือวิเศษ x วน 
สิ่งที่รับทิ้ง ถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกสะอาด เช่น ห่อผ้าอ้อม พลาสติกหุ้มขวดน้ำ หรือฟิล์มกันกระแทก 
ทิ้งแล้วไปไหน นำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใช้ในการผลิตถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ 
จุดรับ ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ปั๊มน้ำมันบางจาก และจุดบริการอื่นๆ ถังวนถุง

ทิ้ง E-Waste | AIS
สิ่งที่รับ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท คือ โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ และหูฟัง 
ทิ้งแล้วไปไหน นำขยะไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธี
จุดรับ ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ไปรษณีย์ไทย AIS Shop และจุดบริการอื่นๆ E-Waste

Drive & Drop Recycle Station ​​| Central Pattana x Recycle Day
สิ่งที่รับ ขยะทุกประเภทที่ผ่านการคัดแยกมา เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ อลูมิเนียม และขวดแก้ว โดยทุกการทิ้งสามารถแลกรับคะแนน The1 และส่วนลดจากร้านค้าได้ด้วย
ทิ้งแล้วไปไหน นำขยะไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและกำจัดอย่างถูกวิธี
จุดรับ แบบไดร์ฟทรูที่ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัล ศรีราชา Drive & Drop Recycle Station 

เครดิต ILI.U ไอแอลไอยู
https://www.the1.co.th/en/the1today/articles/4021

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้